Last updated: 7 ธ.ค. 2564 | 4125 จำนวนผู้เข้าชม |
ยีน เป็นสิ่งที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมที่พ่อแม่ถ่ายทอดไปสู่ลูก นอกจากลักษณะภายนอก เช่น รูปร่าง ความสูง หรือแม้กระทั่งสีผิวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ถ่ายทอดไปสู่ลูกผ่านทางยีนนั่นก็คือ โรคทางพันธุกรรม และยีนมรณะ ที่ทำให้ลูกเกิดลักษณะที่ผิดปกติ หรือถึงแก่ความตายก่อนวันอันควร
สำหรับปัญหามัมมี่ หรือลูกกรอกในสุกรนั้น เป็นปัญหาที่พบได้เป็นประจำในเล้าคลอด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากโรคติดเชื้อ เช่น โรคพาร์โวไวรัส หรือปัญหาสารพิษจากเชื้อราในอาหาร ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เราป้องกันได้ยาก หรือไม่อาจป้องกันได้เลย นั่นก็คือ การถ่ายทอดยีนมรณะจากพ่อและแม่มาสู่ลูก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามัมมี่ได้เช่นกัน
จากงานวิจัยของ Animal Breeding and Genomics for Wageningen university & Research (WUR) ร่วมกับ Animal Breeding organization Topigs Norsvin ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยีนมรณะ ซึ่งถูกถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่สุกร ซึ่งทำให้ลูกสุกรตายและกลายเป็นมัมมี่ในท้องแม่ โดยกลุ่มที่ทำการศึกษาวิจัย จะเป็นกลุ่มพ่อและแม่สุกรที่ให้ลูกที่เป็นมัมมี่ต่อครอกเป็นจำนวนมาก เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการพบยีนที่ผิดปกติในพ่อและแม่ต่อการเกิดมัมมี่ในลูก
การเกิดการกลายพันธุ์ของยีน หรือการพบยีนที่ผิดปกติ ซึ่งถูกจัดได้ว่าเป็นยีนมรณะนั้น เกิดขึ้นได้เป็นปกติในกลุ่มประชากร แต่มักพบในปริมาณที่น้อยและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทั้งนี้ การที่ลูกจะแสดงลักษณะที่ผิดปกติหรือถึงแก่ความตายนั้น จะต้องมาจากพ่อและแม่ที่เป็นพาหะและมียีนดังกล่าว ซึ่ง1 ใน 4 ของลูกที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นพาหะจะแสดงความผิดปกติหรือตายนั่นเอง
แล้วการศึกษาดังกล่าวจะมีผลดีอย่างไร ??? คำตอบคือ เมื่อเราทราบว่าพ่อหรือแม่สุกรตัวใดเป็นพาหะของยีนมรณะหรือยีนที่ผิดปกติ เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการนำพ่อและแม่สุกรที่เป็นพาหะมาผสมพันธุ์กันได้ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดลูกสุกรที่มีปัญหาผิดปกติแต่กำเนิด หรือตายตั้งแต่ในท้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตสุกร
ที่มา: Vincent ter Beek. (2017,ธันวาคม). Scientists find genes responsible for mummified piglets. PigProgress, เข้าถึงจาก https://www.poultryworld.net/Eggs/Articles/2017/10/Growing-evidence-that-eggs-improve-eye-health-196303E/
15 พ.ย. 2564
15 พ.ย. 2564
7 ธ.ค. 2564